วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมื่อต้องสอน "ภาษาไทย" ให้ "ชาวต่างชาติ"

เวลาที่เท็นไปต่างประเทศ แล้วมีฝรั่งมาบอกให้สอนพูดภาษาไทยคำง่ายๆ เราก็จะรู้สึกดีใจที่เขาสนใจภาษาของเรา วัฒนธรรมของเรา

และเราเองก็ภูมิใจที่ได้พรีเซนต์ประเทศตัวเองให้กับคนภายนอก

เมื่อโรงเรียนศุมา*ได้เปิด "โครงการอบรมวิธีสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ" ขึ้น เท็นจึงไม่รีรอที่จะสมัครเข้าไปรับการอบรมครั้งนี้ด้วย

และเท็นก็ได้พบว่า...มันไม่ง่ายอย่างที่คิด!!

หลักในการสอนภาษาไทยของที่นี่คือ การออกเสียงที่ถูกต้อง ความหมาย วิธีใช้ และประเด็นทางวัฒนธรรม

1. การออกเสียงที่ถูกต้อง - ที่นี่จะเริ่มสอนจาการฟัง-พูด ก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มจากการสอนอ่าน-เขียน เพราะนี่เป็นวิธีธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ในการเรียนรู้ภาษา ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ง่าย รวดเร็ว และสนุกกว่า

ปัญหาที่พบมาก เช่น เสียงพยัญชนะและสระบางตัวของไทยไม่มีในภาษาที่ชาวต่างชาติใช้เป็นปกติ (โดยเฉพาะเสียง "ง" มีปัญหาแทบทุกคน)  แยกความต่างระหว่างเสียงสั้น-ยาวไม่ออก ความยากในการออกเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง ฯลฯ

วิธีแก้ก็คือ เราต้องศึกษาว่าพยัญชนะและสระแต่ละตัวมีต้นกำเนิดเสียงอย่างไร อ้าปากอย่างไร วางตำแหน่งลิ้นยังไง มีลมหรือไม่มีลม ฯลฯ เมื่อเวลาที่ชาวต่างชาติออกเสียงไม่ชัด เราจะสามารถแก้ไขได้ถูกต้อง เวลาที่เราออกเสียงเป็นแม่แบบ เราต้องทำรูปปากให้ชัดและออกเสียงให้ "เว่อร์" เข้าไว้ เพื่อให้เขาแยกความแตกต่างของเสียงแต่ละเสียงได้

แค่เริ่มก็ยากแล้วเนาะ ^^"

2. ความหมาย - คำบางคำของไทยเขียนเหมือนกัน แต่มีหลายความหมาย (เช่น กา ขัน) คำบางคำมีความหมายใกล้เคียงกัน (เช่น "ปกป้อง" กับ "ป้องกัน" มีความหมายต่างกันอย่างไร**)

3. วิธีใช้ - เมื่อรู้ความหมายแล้ว ก็ต้องรู้วิธีใช้ด้วย เช่น คำว่า "เท่านั้น" กับคำว่า "เพียงแค่" แปลว่า only เหมือนกัน แต่วิธีใช้ต่างกัน (คำแรกวางไว้ท้ายประโยค คำหลังอยู่กลางประโยค)

เคยเกิดกรณีที่ครูสอนว่า "ไปไหนมา" เป็นคำทักทายที่คนไทยมักใช้ในชีวิตประจำวัน ฝรั่งคนนั้นจึงทักทายทุกคน ไม่เว้นแต่แม่ค้าในโรงอาหาร ยามหน้าตึก หรือคนขับแท็กซึ่ที่เจอหน้ากันครั้งแรกว่า "ไปไหนมา"

ซึ่งแท้จริง คำว่า "ไปไหนมา" คนไทยจะใช้เฉพาะกับคนที่รู้จัก และจะใช้ก็ต่อเมื่อมีการพบกันหรือสวนทางกันโดยบังเอิญเท่านั้น!!

ในสถานการณ์แบบนี้ คนไทยเราอาจเห็นเป็นเรื่องขำ แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติหลายคน โดยวัฒนธรรมเขา เขารู้สึกอับอาย ยิ่งเมื่อเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมการยิ้มของคนไทย การยิ้มอย่างเอ็นดูของคนไทยจึงกลายเป็นการ "ยิ้มเยาะ" ในสายตาของเขา นี่ก็เป็นสิ่งที่คนเป็นครูต้องสอนเช่นกันในประเด็นของวัฒนธรรม

4. ประเด็นทางวัฒนธรรม - ครูสอนภาษาไทยสอนวัฒนธรรมเพื่อช่วยในการเรียนภาษา จึงต้องเล่าเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนภาษา และชีวิตของนักเรียน

เรื่องนี้เท็นเจอกับเคสจบของตัวเอง เท็นได้รับโจทย์ให้สอน reading comprehension ซึ่งในเนื้อหามีการกล่าวถึง "แม่ย่านาง" กับ "เด็กขายพวงมาลัย" ตามสี่แยก

เท็นก็อธิบายว่าทำไมถึงเรียกว่าแม่ย่านาง บอกเล่าถึงที่มาของแม่ย่านางที่เริ่มต้นจากความเชื่อเรื่องผีของคนโบราณ ผนวกกับการเดินทางโดยเรือเป็นหลักของสังคมไทย จนเกิดเป็นวิญญาณที่คุ้มครองเรือ ต่อมาเมื่อคนไทยหันมาเดินทางด้วยรถ ความเชื่อเรื่องแม่ย่านางก็ยังคงอยู่ และเป็นต้นกำเนิดของเด็กขายพวงมาลัยตามถนนที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

ครูผู้คุมสอนได้แนะนำว่า สิ่งที่เราควรสอนเพิ่มเติมคือเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่นักเรียนต่างชาติจะสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และวิธีที่เขาควรปฏิบัติเมื่อพบเห็นสิ่งเหล่านี้ ดอกไม้หรือพวงมาลัยที่อยู่หน้ารถควรนำมาหยิบเล่นหรือไม่ ใบเตยหอมที่อยู่หลังรถใช้บูชาแม่ย่านางเช่นเดียวกันหรือเปล่า หรือไว้เพื่อให้มีกลิ่นหอมเฉยๆ นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะรู้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง

นี่จึงเป็นการเรียนการสอนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง...

ที่นี่ยังสอนให้เรารู้จักคิดวิเคราะห์ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ไม่ใช่เชื่อเพราะท่องจำตามๆ กันมา ประเภทเขาพูดแบบนี้ ก็พูดตามเขาไปนั่นแหละ ไม่ต้องคิดเยอะ

เพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนถามอะไรเรามา เราต้องตอบได้ หรือถ้าตอบตอนนั้นไม่ได้ ก็ต้องไปค้นข้อมูลมาให้ละเอียดแล้วจึงมาตอบ

บางคำถามที่นักเรียนถาม คนไทยเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำ เช่น...
ทำไมหนังสือ มีด เข็ม เกวียน เทียน จึงใช้ลักษณนามว่า "เล่ม" ทั้งๆ ที่ดูไม่มีอะไรเข้าพวกกันเลย***

หรือบางเคส นักเรียนอยากฝึกการฟัง ครูให้นักเรียนไปหาคำถามมา แล้วครูจะมาตอบเพื่อให้นักเรียนฝึกฟัง...นักเรียนถามว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ทำไมทีวีบางช่องยังเป็นของทหารอยู่" เป็นเรา...จะหงายไหม ^^"

ครูที่นี่จึงเป็นครูที่ทุ่มเทให้กับการสอนเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขารู้ดีว่าพวกเขาคือหน้าตาและภาพลักษณ์ของประเทศ นักเรียนต่างชาติที่มาเรียนจะมีทัศนคติต่อคนไทยและประเทศไทยอย่างไร ครูสอนภาษาไทยเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญ

ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำพูดของครูหนู ศศิธร พิทยรัตน์เสถียร ครูผู้ดูแลโรงเรียนศุมาว่า

"เราต้องเริ่มจากรู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้วลงมือทำ จากนั้นจึงค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์และทักษะ พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นความสามารถเฉพาะตัว ที่สุด ทรัพย์สินเงินทองและความมั่นคงในชีวิตก็จะตามมาเอง"

รักในสิ่งที่ทำ :)


*เว็บไซต์ http://www.sumaa.net แฟนเพจ https://www.facebook.com/SumaaThailanguage

**ปกป้อง = ดูและสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้ได้รับความเสียหาย, ป้องกัน=กั้นไว้ไม่ให้มีอันตรายเข้ามา
(ในพจนานุกรมไม่ได้อธิบายความแตกต่างของสองคำนี้อย่างชัดเจน)

*** "ลักษณนาม" หมายถึงนามที่บ่งบอกลักษณะภายนอกของสิ่งๆ นั้น ดังนั้น สิ่งของที่ใช้ลักษณนามว่า "เล่ม" จะมีลักษณะร่วมกันคือ ผอม ยาว และมีปลายแหลม สำหรับหนังสือ ให้นึกถึงหนังสือใบลานสมัยก่อน

4 ความคิดเห็น:

  1. การจะเป็นครูนี่ยากจริงๆนะค่ะเนี่ยยยย...

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากเลยครับ ได้รับข้อมูลดีๆมากมาย ผมจะไป ทัวร์เกาหลี น่าจะได้เจอเพื่อนต่างชาติมากขึ้น คงได้สอนภาษาไทยเขาบ้างแน่นอน http://www.grandtourismo.co.th ขอบคุณอีกครั้งครับ

    ตอบลบ