วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

"เคลียร์" กับคู่กรณียังไงเพื่อรักษาน้ำใจอีกฝ่ายให้ได้มากที่สุด?

เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความในแฟนเพจของครูโอ๋ เบญญาภา บุญพรรคนาวิก (KruOh Charming on Stage) ในหัวข้อ "หุ้นส่วน ต้องพูดกัน

พออ่านจบ คำถามที่เกิดขึ้นในใจก็คือ จะ "เคลียร์" กับคู่กรณียังไงเพื่อรักษาน้ำใจอีกฝ่ายให้ได้มากที่สุด?

ที่ผ่านมา กว่าเท็นจะยอมเคลียร์ นั่นคือ "เก็บกด" ความน้อยใจไว้โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว จนถึง "จุดระเบิด" ที่มักจะระเบิดกับเรื่องเล็กนิดเดียว...

และทุกคนก็ตายเรียบ!!

ครั้นจะโพล่งออกไปทันที ฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะตายได้ เราไม่อยากทำร้ายใคร และไม่อยากให้ใครรู้สึกไม่ดีกับเรา ถึงได้พยายามบอกตัวเองให้อดทน "ไม่เป็นไรๆ" และก็เข้าสู่อีหรอบเดิมคือ "เก็บกด"

ครั้นจะรอให้อารมณ์เย็นลงแล้วค่อยมาพูด เราก็กลัวว่ามันจะช้าไป เขาอาจจะไม่อยากเคลียร์กับเราก็ได้?!!? "เธอจะมาพูดอะไรตอนนี้" และเราก็หน้าแหกไปตามระเบียบ ก็เลยเลือกที่จะพูดกับตัวเองว่า "ช่างมันเหอะ" และ "เก็บกด" ต่อไป

"เมื่อเราโกรธคนคนหนึ่ง เราเห็นคนคนนั้นเป็นศัตรูของเราแล้ว...
ลองดูซิว่า แท้จริงแล้วภายใต้ความโกรธ มีความกลัวหรือความรู้สึกอะไรซ่อนอยู่..."
(ข้อคิดที่ได้จาก อ.สันติกโร, ธรรมบรรยายหัวข้อ Inter-Religious Cooperation or More Religious Violence? Buddhadasa Bhikkhu's vision for world peace, 23 พ.ย. 2558)

ถ้าสังเกตดีๆ ทั้งหมดที่เท็นพูด สะท้อนให้เห็นถึงกลไก "ความกลัว" ที่เกิดขึ้นในความคิดของเท็น รวมถึงทัศนคติที่เท็นมีต่อตัวเองด้วย โดยไม่รู้ตัว มันคือเสียงที่ตอกย้ำตัวเองว่า "ตัวฉัน//ความต้องการของฉัน//ความรู้สึกของฉันไม่สำคัญ"

แล้วความเป็นจริงล่ะ?

จากประสบการณ์ตรง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เท็นไม่พอใจคนคนหนึ่งมากๆ เท็นเลือกที่จะไม่แสดงออกไปทันที (อาจจะมีเผลอหลุดกระเด็นๆ ไปบ้างสัก 2% :P) แต่พยายามเอากลับมาใคร่ครวญพิจารณา เพื่อให้เข้าใจถึงมุมมองที่เขากระทำมากขึ้น ซึ่งบางครั้งมันก็ยากมากๆ ตราบเท่าที่เท็นยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำอยู่

อย่างไรก็ดี การเรียนนพลักษณ์ก็ทำให้เท็นเข้าใจว่า คนแต่ละคนมีมุมมองต่อเรื่องเรืองหนึ่งที่ต่างกัน ไม่มีใครคิดเหมือนกันทุกคน ภายใต้พฤติกรรมของคนคนหนึ่ง มักจะมีเหตุผลของการกระทำที่ซ่อนอยู่ ซึ่งหลายครั้งเป็นเหตุผลที่เราก็คาดไม่ถึง!! แม้เท็นจะไม่สามารถเข้าใจอีกฝ่ายได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เท็นลดการโทษคนอื่นหรือการ "โยนใส่" (projection) ไปได้บ้าง

"หากฉันไม่เข้าใจเธอ ฉันก็อาจจะโกรธเธอได้ตลอดเวลา เราหมดความสามารถที่เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง และนั่นแหละคือแหล่งที่มาของความทุกข์"
(หลวงปู่ติช นัท ฮันห์, Being Peace, แปลโดยแฟนเพจ Thai Plum Village)

ผ่านไปประมาณ 3 วัน เท็นตัดสินใจที่จะบอกกับเขาถึงความไม่พอใจของตัวเอง โดยเลือกใช้วิธี "I-message" (หรือ I-statement) คือการพูดจาก "ตัวเอง" หรือ "ฉัน" (I) เป็นหลัก และเป็นการพูดจากความรู้สึก

เปรียบเทียบระหว่าง: "เธอพูดอย่างนี้ได้อย่างไร" กับ "ฉันรู้สึกเจ็บปวดที่เธอพูดแบบนี้" น้ำหนักและความรู้สึกของ 2 ประโยคนี้แตกต่างกันอย่างชัดเจน และประโยคหลังเป็น I-message

ผลลัพธ์ที่ได้ดีเกินความคาดหมายมากๆ!! ไม่มีการทะเลาะกัน ไม่มีการสาดอารมณ์ใส่กัน มีแต่ความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งนั่นทำให้เท็นโล่งใจเป็นอย่างมากกกกกก

เรียกได้ว่าแทบจะยิ้มทั้งน้ำตาเลยทีเดียว T_T

------------------------------------------------------

I-message และ You-message

โดย โค้ชจิมมี่ พจนารถ ซีบังเกิด (Jimi The Coach Co., Ltd.)
(ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ >..<)

I-message สำหรับแสดงความคิดเห็นเชิงลบ (ตำหนิ/บอกสิ่งที่เราไม่พอใจ)

"ฉันสังเกตว่า (fact)........
ทำให้เกิด (result)........
ฉันรู้สึก (feeling)........
ฉันอยากให้/อยากเห็น (expectation)........
เธอจะได้ (benefit)........"

อาจจะตบท้ายว่า "ที่พูดมาทั้งหมด เธอมีความคิดเห็นว่าอย่างไร"
โทนน้ำเสียงในการพูด ก็มีส่วนช่วยมากค่ะ ^^
เป็นการพูดที่ไม่มีข้อสรุป มีแต่ข้อสังเกต :)

You-message สำหรับแสดงความคิดเห็นเชิงบวก (ชื่นชม)

"เธอทำดีมาก (praise)
ที่ (fact)........
ทำให้ (result)........"




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น