วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เมื่อคนตาบอดถ่ายภาพ?: ความสุขที่ไม่อาจถูกปิดกั้นด้วยความมืด

เชื่อไหมว่า 3 ภาพแรกเป็นฝีมือการถ่ายภาพของคนตาบอด
โดยเฉพาะรูปที่สาม เป็นการ selfie ด้วยกล้อง iPhone
ใช่ค่ะ!! คนตาบอดเป็นคนถ่ายจริงๆ!!

เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสไปงานนิทรรศการภาพถ่าย "๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส: ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด" ซึ่งเป็นผลงานการถ่ายภาพจากนักเรียนผู้พิการทางสายตา 244 คนทั่วประเทศจากโรงเรียนสอนคนตาบอด 13 โรงเรียน ในหัวข้อ "รูปที่มีทุกบ้าน"

สิ่งแรกที่ทำให้ฉันเห็นแล้วทึ่งก็คือ ลักษณะรูปถ่ายเหมือนรูปที่ถูกถ่ายโดยคนปกติ เป็นรูปที่สวยงาม positioning ดี และหลายๆ รูปก็เต็มไปด้วยเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก

พวกเขาทำกันได้อย่างไร?!!?

โชคดีที่ฉันมีโอกาสได้ให้น้องนักเรียนตาบอดคนหนึ่งลองถ่ายรูปให้กับฉัน ก่อนอื่นเขาต้องรู้ก่อนว่ามีในภาพมีคนทั้งหมดกี่คน จากนั้นก็ยืดแขนมาสัมผัสไหล่ของผู้ถูกถ่ายเพื่อกะความสูงและระยะห่าง จากนั้นก็ถอยหลังและนับก้าวเพื่อให้ได้ระยะห่างที่เหมาะสม แล้วจึงนับ 1 2 3 เหมือนคนทั่วไปก่อนกดชัตเตอร์ลงบนกล้องคอมแพคที่มีรูรับแสงขนาดใหญ่ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถเก็บทุกองค์ประกอบของภาพลงเฟรมได้ทั้งหมด

ฉันได้คุยกับพี่ต๋อย สมศักดิ์ ลาภานันท์ หนึ่งในอาสามัครที่ทำกิจกรรมร่วมกับคนตาบอด ฉันถามพี่ต๋อยว่า ในเมื่อเด็กๆ เขาไม่มีโอกาสมองเห็นภาพที่ถ่าย แล้วเขาจะมีความสุขได้อย่างไร

สิ่งที่ฉันสรุปได้จากพี่ต๋อยก็คือ...
ความสุขแรกของเขา เกิดจากการได้ทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน นับตั้งแต่ที่พวกเขาได้สัมผัสกล้องครั้งแรก เรียนรู้เรื่องทิศทางการถ่ายภาพจากการฟังเสียง ทิศทางของแสงจากความร้อนที่สัมผัสผิว จับวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อกะระยะห่าง การมีจินตนาการ และเสียงของชัตเตอร์ที่นำมาซึ่งประสบการณ์แปลกใหม่ของพวกเขา

ภาพที่ถูกอัดออกมา แม้พวกเขาจะมองไม่เห็น แต่อาสาสมัครจะช่วยพวกเขาทบทวนเรื่องราว "ภาพนี้ถ่ายที่นี่ๆ จำได้ไหม" พวกเขาจะลูบคลำภาพเหล่านั้นพลางเล่าประสบการณ์ที่พบเจอให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องฟัง หรือเขียนออกมา

สำหรับพวกเขา ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามของภาพถ่าย แต่มันคือความสุขที่ได้ลงมือทำ และมีความทรงจำที่สวยงาม

พวกเขาทำในสิ่งที่ไม่มีใคร (โดยเฉพาะคนปกติ) คิดว่าคนตาบอดจะทำได้ มันคือการข้ามเส้นความเชื่อบางอย่าง ซึ่งเมื่อทำได้แล้ว พวกเขาก็จะเกิดความชื่นชม รัก และความภาคภูมิใจในตัวเอง และเมื่อเขาเอากลับไปบ้าน แน่นอนว่าคนที่บ้านจะต้องประหลาดใจในสิ่งที่พวกเขาทำ และภูมิใจในตัวเขาอย่างยิ่ง

กิจกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้เขาได้เปิดโลกภาพนอก นอกเหนือจากการอยู่แต่ในโรงเรียน มีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับคนในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับความรักความผูกพันของแต่ละครอบครัวในชุมชนที่มีต่อในหลวง คุณตาคุณยายบางคนถึงกับบอกเล่าถึงในหลวงทั้งน้ำตา

"ผมซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก ซึ่งถือได้ว่าผมมีโอกาสที่ดีที่ได้ไปถ่ายรูปพระองค์ท่าน มันทำให้ผมภูมิใจมากที่สุด ถึงแม้ผมจะไม่สามารถมองเห็นท่านด้วยสายตา แต่ผมก็สามารถใช้หัวใจสัมผัสได้ แค่นี้ผมก็มีความสุขมากๆ แล้ว" 
[นายบดินทร์ แก้วหลวง (หนุ่ม) นักเรียนตาบอด]

นี่แหละความสุขในแบบของพวกเขา...

ระหว่างที่ฉันเดินชมนิทรรศการ ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ คนตาบอดเล็กน้อย และแอบสังเกตการณ์เวลาที่พวกเขาถ่ายภาพ...

รอยยิ้มแห่งความสุขเหล่านั้นทำให้หัวใจของฉันสดใสและแช่มชื่นอย่างบอกไม่ถูก
ฉันรู้สึกว่า พระเจ้าสร้างพวกเขา เพื่อเติม "น้ำมันตะเกียงแห่งชีวิต" ให้กับผู้คน
พวกเขาคือแสงสว่าง...ไม่ใช่ความมืด...

รอยยิ้มของพวกเขา ทำให้ฉันรู้สึกขอบคุณการมีชีวิต...
ขอบคุณนะ :)

ถ่ายโดย นพชัย (นักเรียนตาบอด)

ถ่ายโดย นพชัย (นักเรียนตาบอด)

selfie โดย ปาวินท์ (นักเรียนตาบอด)

นักเรียนตาบอดกำลังถ่ายภาพ


ถ่ายโดย ดญ.ศศิธร กรอกกระโทก (นักเรียนตาบอด)

ป.ล. นิทรรศการภาพถ่าย "๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส: ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด" หัวข้อ "รูปที่มีทุกบ้าน" จะจัดถึงวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) นะคะ ^^

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อเฟซบุ๊ก "สอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ" และแฟนเพจ "๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานภาพถ่ายของนักเรียนในโลกมืด" ค่ะ

FB Fanpage: https://www.facebook.com/tenravipanblog/
Blogger: http://tenravipan.blogspot.com/
Twitter: https://twitter.com/tenravipan
Google+: https://plus.google.com/109907586945597973785

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น