วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โอบอุ้มเด็กน้อยในตัวเรา 2: ว่าด้วย "ความกลัว" และ "ความตาย"

วันนี้เกือบจะขอไม่เขียนบทความแล้ว เพราะรู้สึกว่าป่วยเอามากๆ
และรู้ตัวว่าเป็นความป่วยที่เกิดจากจิตใจที่เหนื่อยล้าและสิ้นเรี่ยวแรง
เหมือนที่ อ.สันติกโรเคยเปรียบเทียบเอาไว้เกี่ยวกับนิวรณ์ "พยายาม" นั่นแหละ
พยายาม (หมายถึง บังคับให้เป็นดังใจเรา) -- เหมือนต้องวิ่งขึ้นเขาที่ไม่มีวันจบ ขึ้นไปๆ เรื่อยๆ มันก็เหนื่อย ต้องฝืนใจวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้หยุดพัก เพราะรู้ตัวว่าวิ่งไปก็ป่วยการ
(ที่มา: อ.สันติกโร, นพลักษณ์กับการปฏิบัติธรรม, 2558) 
เขียนถึงตรงนี้ ก็พอจะเห็นแหละ ว่าที่เราไม่ยอมหยุดวิ่งเพราะมี "ความกลัว" บางอย่าง
"ทำไมเราถึงกลัวความตาย? ในสังคมสมัยใหม่ เราไม่ได้มองชีวิตและความตายเป็นหนึ่งเดียวกัน ผลก็คือเรายึดติดกับชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็ผลักไสและปฏิเสธความตาย ความตายกลายเป็นสิ่งที่เรากลัวอย่างยิ่ง เป็นสิ่งสุดท้ายที่เราอยากจะมอง"
(ที่มา: ปาฐกถาธรรม ศิลปะแห่งการอยู่และการตาย โดยท่านโซเกียล ริมโปเช แปลภาษาไทยโดย พระไพศาล วิสาโล วันที่ 19 ธันวาคม 2558)
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ กล่าวว่า "ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราก็คือเมื่อเราตายแล้วเราจะไม่เหลืออะไรเลย" เพราะเรามอง "การเกิด" และ "การตาย" อย่างแบ่งแยกเป็น 2 ขั้ว ทำให้เรา "ยึดติด" กับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยให้เรา "รอด"
"เราพยายามที่จะยึดถือสิ่งต่างๆ ที่เราให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ทรัพย์สมบัติ หรือแม้แต่คนที่เรารัก แต่การยึดถืออย่างเหนียวแน่นในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ความกลัวสงบลงเลย ที่สุดแล้ววันหนึ่งเราก็จะต้องปล่อยสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไป เราไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปกับเราได้"
(ที่มา: ติช นัท ฮันห์. กลัว. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ฟรีมายด์, 2558.)
ท่านโซเกียล ริมโปเช ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในปาฐกถาธรรมเช่นกันว่า
"น่าเสียดายที่ในสังคมสมัยใหม่ ผู้คนมองความตายว่าคือความสูญเสียหรือความพ่ายแพ้ อย่างไรก็ตามมองในแง่ของธรรมมะ ความตายมิใช่โศกนาฏกรรมที่เราต้องกลัว แต่มันคือโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับการแปรเปลี่ยน"
(ท่านโซเกียล ริมโปเช แปลโดย พระไพศาล วิศาโล) 
แล้วเราจะมองเรื่อง "การเกิด" และ "การตาย" อย่างไม่แบ่งแยกเป็น 2 ขั้วได้อย่างไร?
"สำหรับพวกเราหลายคน ความคิดเห็นเรื่องการเกิดและการตาย การมาและการไป สร้างความเจ็บปวดให้เราอย่างมาก เราคิดว่าคนที่เรารักมาจากที่ไหนสักแห่ง และขณะนี้เขาจะจากเราไปที่ไหนสักแห่ง แต่ธรรมชาตที่แท้ของเราคือธรรมชาติแห่งการไม่มีการมาและไม่มีการไป เราไม่ได้มาจากที่ไหน และเราก็ไม่ได้จะไปที่ไหน เมื่อเงื่อนไขต่างๆ ถึงพร้อม เราจะปรากฏขึ้นในรูปแบบนั้นๆ และเมื่อเงื่อนไขเหล่านั้นไม่พร้อมอีกต่อไป เราก็ไม่สามารถปรากฏในรูปแบบนั้นได้อีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีอยู่ ถ้าเรากลัวความตาย นั่นเป็นเพราะเรายังไม่เข้าใจว่าสิ่งใดๆ ล้วนไม่มีความตาย" 
(หลวงปู่ติช นัท ฮันห์, กลัว, 2558)
"ธรรมชาติที่แท้จริง ไร้การเกิดและไร้การตาย" หลวงปู่ได้กล่าวถึง "ก้อนเมฆ" ที่ปรากฏนท้องฟ้า ก่อนที่มาเป็นก้อนเมฆ มันคือไอน้ำที่สร้างมาจากมหาสมุทรและความร้อนจากแสงอาทิตย์ และหลังจากที่เป็นก้อนเมฆแล้ว มันก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นฝน หิมะ หรือลูกเห็บ เมฆไม่สามารถเกิดขึ้นจากความไม่มีอะไร และไม่สามารถสูญหายกลายเป็นความว่างเปล่าได้

สสารทุกชนิดในโลกล้วนเป็นเช่นนี้...

ว่าแล้ว ก็งงๆ ว่า ฉันเขียนมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร??
จบดีกว่า ^^"



FB Fanpage: https://www.facebook.com/tenravipanblog/
Blogger: http://tenravipan.blogspot.com/
Twitter: https://twitter.com/tenravipan
Google+: https://plus.google.com/109907586945597973785

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น