วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการสังเกตตัวเอง: นพลักษณ์กับการปฏิบัติธรรม วันที่ 1 (5 ธ.ค. 2015)

ในช่วงที่เท็นได้ไปภาวนาในคอร์ส "นพลักษณ์กับการปฏิบัติธรรม" วันที่ 5-12 ธ.ค. 2015 ที่วิมานดินรีสอร์ท ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่ง อ.สันติกโร เป็นผู้สอนนั้น เท็นได้เขียนบันทึกขึ้นมาแบบวันต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. จนถึงวันที่ 11 ธ.ค. (วันที่ 12 ธ.ค. เป็นวันกลับ เลยไม่ได้บันทึก) โดยเนื้อหาหลักจะเป็นเรื่องการสังเกตตัวเอง และมีคำสอนของ อ.สันติกโร แทรกอยู่บ้าง

เท็นเชื่อว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่สนใจศึกษานพลักษณ์ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจศึกษาโลกทัศน์แบบลักษณ์ 4 เพราะเท็นคิดว่าเท็นเขียนถ่ายทอดความรู้สึกและโลกภายในของตัวเองได้ค่อนข้างชัดเจน

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษานพลักษณ์ แต่สนใจเรื่องการภาวนาหรือเรื่อง "นิวรณ์" ซึ่งเป็นหัวข้อในการปฏิบัติธรรมของปีนี้ ก็น่าจะพอได้รับประโยชน์บ้างค่ะ

หากมีคำพูดใดที่เท็นไม่สามารถถ่ายทอดคำพูดของอาจารย์ได้แบบเป๊ะๆ (ซึ่งคงไม่เป๊ะอยู่แล้ว ^^") หรือมีการตีความผิดเพี้ยนไปบ้างตามแว่นของลักษณ์ตัวเอง ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

------------------------------------------

วันแรกที่นั่งสมาธิ เห็นเลยว่าตัวเองฟุ้งซ่านมาก อยากดู The Face // วีคนี้ The Voice จะเป็นยังไงบ้างนะ // อยากดูซีรี่ส์มหาภารตะ // สงสารกรรณะจัง // และดราม่าอื่นๆ ที่ทำให้อารมณ์ของฉันเข้มข้นขึ้น ฉันรู้เลยว่าสิ่งหนึ่งที่ฉันต้องฝึก คือการอยู่นิ่งๆ กับอารมณ์ที่ "จืดชืด" ให้ได้

น่าแปลกที่เรานึกถึงคนคนนั้นน้อยกว่าที่คิด จากปกติที่เคยรบกวนจิตใจฉันมากๆ อาจเป็นเพราะการตั้งจิตอธิษฐานของฉันเอง ฉันตั้งจิตให้นิ่ง และนึกถึงหน้าคนคนนั้นอย่างชัดเจนที่สุดจนเหมือนมายืนตรงหน้า และอธิษฐานอย่างตั้งมั่นที่สุด "หากเคยมีสร้างเวรสร้างกรรมต่อกันมา ก็ขออโหสิกรรม และช่วยอโหสิกรรมให้ฉันด้วย อย่าได้มีเวรต่อกันอีกเลย ลืมๆ กันไปซะได้ยิ่งดี"

ฉันลองใช้วิธีนี้กับคนอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต พบว่าระหว่างทำ แต่ละคนให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน สิ่งที่น่าตกใจก็คือ กับบางคนที่ฉันคิดว่าให้อภัยแล้ว กลายเป็นว่าจริงๆ ฉันยังพยาบาทเขาอยู่มาก (แม้แต่ตอนนี้ฉันก็ไม่สามารถให้อภัยเขาได้)

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันพบระหว่างนั่งสมาธิคือ การ "พยายาม" ที่จะมีสมาธิ มันกลายเป็นการบีบบังคับจนอึดอัด กระทั่งจังหวะหนึ่งที่ฉันลุกไปเข้าห้องน้ำ ฉันพบว่าจังหวะที่ฉัน "ปลดล็อค" ตัวเองและ "ผ่อนคลาย" เนี่ยแหละ มีสมาธิที่สุด

ฉันนึกไปถึงคำแนะนำของเพื่อนคนหนึ่งที่ฉันได้เขียนลงบทความไปก่อนหน้านี้...

"การสร้างวินัย ทำได้ทางเดียวครับ คือคุณต้องชอบในสิ่งที่ทำ ต้องมีความสุขกับมัน // มันยากตรงที่ว่าการนั่งสมาธิ เรามักจะตั้งความหวังในการบรรลุอะไรสักอย่าง ซึ่งความหวังหรือความต้องการคือกิเลส ทำให้เกิดทุกข์ อาจารย์ที่สอนผม สอนผมว่า "ให้เรานั่งสมาธิโดยไม่ต้องนั่งสมาธิ" การที่คิดว่าเราต้องมีวินัย มันก็เป็นการสร้างเป้าหมายไปเรียบร้อยแล้วครับ // ผมบอกได้แค่ว่า นั่งไปเรื่อยๆ จนคุณเห็นสิ่งที่เรียกว่า "ความว่าง" หลังจากนั้นการนั่งสมาธิจะมีความสุขมากเลย พอไม่ได้นั่งแล้วจะรู้สึกขาดอะไรไปเลยครับ // อย่าไปคิดอะไร แค่นั่งเพื่อนั่งแค่นั้นจริงๆ"
(Wang Zong Hao)

วันนี้ อ.สันติกโร ก็พูดถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ในตอนหนึ่งที่อาจารย์สอนให้ใช้ "ลมหายใจ" เป็น "ประตู" เข้าสู่สมาธิและวิปัสนา

"เฝ้าดูการหายใจว่ามีอะไรเข้ามาบังคับหรือไม่ ถ้ามี ถือว่าสั้น ถ้าไม่มี มันจะสบายๆ อาจจะสั้นหน่อย แต่เดี๋ยวก็ยาว การกยายามจะมีสติเป็นการบังคับลมหายใจ ต้วพยายามระวังดีๆ มักมีความอยากอยู่เบื้องหลัง สติไม่ใช่เรื่องพยายาม กับลมหายใจไม่ต้องพยายาม แค่ระลึก ก็มีสติตรงที่มันระลึก ไม่ใช่พยายามระลึก ถ้ามี ปล่อยการบังคับ ผ่อนคลาย อยู่กับลมหายใจธรรมชาติ บังคับคือมีตัวเราคิด ความคิดเรามันไม่รู้เรื่อง ธรรมชาติมันฉลาดกว่า ไม่ต้องแทรกแซงจนสับสน"
(ตัดมาจากเลคเชอร์บางส่วนของตัวเอง) 

ขอปิดท้ายด้วยคำพูดหนึ่งของอาจารย์ที่ฉันรู้สึกว่ามันโดนเอามากๆ...

"ความอยากเป็นเรื่องของ "เวลา" และ"อนาคต"
"เวลา" มันกลายเป็นกิเลสและตัณหา
ถ้าเราทิ้ง "เวลา" การดับทุกข์เป็นเรื่องของ "ปัจจุบัน"
ทุกข์เกิดจากปรุงแต่ง ถ้าปล่อยวางสิ่งที่ปรุงแต่งก็ดับทุกข์
การเอานิพพานเป็นเรื่องของ "อนาคต" เป็นการลดคุณค่า
เอานิพพานมาเป็นเรื่อง "ปัจจุบัน" ดับทุกข์ที่นี่ก็จบ
เกิดทุกข์ใหม่ ค่อยไปดับตรงนั้น"



พระอาทิตย์ตกดิน วันที่ 5 ธ.ค 2015 (เมฆบังเสียจนไม่เห็นอะไร ^^")

FB Fanpage: https://www.facebook.com/tenravipanblog/
Blogger: http://tenravipan.blogspot.com/
Twitter: https://twitter.com/tenravipan

Google+: https://plus.google.com/109907586945597973785

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น