วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จะสร้างวินัยในการนั่งสมาธิได้อย่างไร?

ฉันมีเป้าหมายที่จะนั่งสมาธิให้ได้ทุกวัน เพราะการนั่งสมาธิจะทำให้ฉันนิ่งขึ้น อยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ควบคุมตัวเองได้มากขึ้น ดูแลอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่า

หากช่วงไหนไม่ได้นั่ง กำลังจิตก็จะอ่อนแอลง และอ่อนไหวกับเรื่องที่ทุกข์ได้ง่ายขึ้น
เวลามีอะไรมากระทบนิดหน่อย ก็หลุดลุ่ย ตั้งมั่นไม่ค่อยได้

ทั้งๆ ที่รู้ถึงความจำเป็นในการนั่งสมาธิเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่เคยนั่งต่อเนื่องได้ตลอด
ส่วนตัวจะรู้สึกว่าตัวเองมีนู่นมีนี่มีนั่นที่ต้องทำ ต้องจัดการตลอดเวลา
ทั้งๆ ที่ความจริงหลายครั้งก็เสียเวลาไปฟุ้งซ่านกับความคิดเรื่องไร้สาระ

เพราะอยากจะจริงจังกับมันจริงๆ เลยไปตั้งคำถามนี้ในเฟสบุ๊กส่วนตัวตั้งแต่เมื่อ 3-4 วันก่อน
และก็ได้คำแนะนำที่น่าสนใจมากมาย (ซึ่งจะแปะไว้ท้ายบทความนะคะ)

หลังจากได้คำตอบกลับมามากมาย ก็กลับมานั่งคิดและย้อนนึก...
ก่อนหน้านี้ ฉันเคยให้ commitment ไว้ว่า จะกราบอัษฎางคประดิษฐ์วันละ 50 ครั้ง
เพื่อเป็นการออกกำลังกาย!! (เพราะฉันไม่ชอบวิธีการออกกำลังกายแบบทั่วไป เช่น ไปฟิตเนส)

เขียนถึงตรงนี้หลายคนอาจจะงงๆ 
มันมาเกี่ยวกับเรื่องนั่งสมาธิได้ยังไง?!!?

การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ เป็นการกราบแบบทิเบต
(ดูคลิป https://www.youtube.com/watch?v=uZWG4iHH1Zw)
ฉันพอจะรู้จักการกราบแบบนี้มานาน
แต่ได้ฝึกปฏิบัติจริงครั้งแรกกับ อ.กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์
(มูลนิธิพันดารา The Thousand Stars Foundation)
โดยระหว่างเข้าคอร์สภาวนา อาจารย์จะให้กราบแบบนี้ทุกวัน วันละ 21 ครั้ง
ทุกครั้งที่กราบให้พูดว่า...
"ด้วยกาย วาจา ใจ ข้าพเจ้าขอพึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ไปจนกว่าจะถึงกาลหลุดพ้น"

อันที่จริง ฉันคิดว่า มันเป็นกุศโลบายในการภาวนาแบบหนึ่ง
เพราะเราไม่ใช่แค่กราบ แต่จิตเราต้องจดจ่ออยู่ที่คำภาวนาด้วย
เมื่อจิตเราวอกแวก เราจะเห็นมันอย่างชัดเจน ว่ามันแกว่งไปที่ไหน

นอกจากนี้ เวลากราบ จิตยังต้องนึกถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้มากราบกับเราด้วย
เพราะบางชีวิต ถึงอยากจะกราบพระ ก็กราบไม่ได้ จึงเหมือนให้เราได้กราบแทนสรรพสัตว์เหล่านั้น
ทำให้การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ นอกจากจะเป็นการฝึกสมาธิแล้ว ยังเป็นการฝึกโพธิจิต*ด้วย

(*โพธิจิต คือ จิตที่ปรารถนาจะบรรลุธรรมเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตน เป็นจิตแบบโพธิสัตว์ที่เปี่ยมไปด้วยความกรุณาและปัญญา - อ.กฤษดาวรรณ)

แรกๆ ที่ทำ 21 ครั้งก็เหนื่อยแล้ว
ไม่ต้องไปคิดถึงคนทิเบตจริงๆ ที่เขากราบกันเป็นร้อยเป็นพันครั้ง
ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงถือเป็นกุศโลบายในการออกกำลังกายด้วย :P

เดี๋ยวนี้ ฉันเพิ่มเป็นการกราบวันละ 70 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
ทุกครั้งที่ทำเสร็จ แม้จะเหนื่อย แต่ข้างในจะรู้สึกปลอดโปร่งมากๆ
และฉันสังเกตว่า เมื่อร่างกายเราแข็งแรง จิตเราก็จะตั้งมั่นง่ายขึ้นด้วย ^^

จริงๆ วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่เหมาะกับคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกเยอะๆ อย่างฉันด้วย
อารมณ์ความรู้สึกมันเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง
การได้ปลดปล่อยมันออกด้วย activity ที่ใช้ร่างกายบางอย่าง ถือเป็นวิธีที่ดีมาก

หลายๆ ครั้งเวลาที่ฉันไม่อยู่บ้านนานๆ พอกลับมาจะทำอีกที ต้องใช้เวลาบิวท์พอสมควร
คราวนี้ ฉันจะประกาศความตั้งใจละ...

"ฉันจะกราบอัษฎางคประดิษฐ์วันละ 70 ครั้ง ทุกวันที่ฉันอยู่บ้าน"

----------------------------------------------------------------
คำแนะนำจากเพื่อนๆ ในเฟสเรื่องการสร้างวินัยในการนั่งสมาธิ
(ขอบคุณทุกคนมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)


Archie Zirikorn: ต้องมี สังฆะ หรือ กัลยาณมิตร ค่ะ ไปได้ไกลแน่นอน  // เราไปคนเดียวมันไม่ไหวจริงๆ งานนี้ยากมากเพราะต้องทำสม่ำเสมอทั้งชีวิต เลยต้องมีคนสนับสนุนค่ะ ปล.มีตั้ง group แปะข้ออรรถข้อธรรมะ มี Q & A มี sync กันด้วย...โอ๊ยยย เยอะค่ะ

Benzibenz Jongkaewmanee: พี่คิดว่า คิดถึงการนั่งสมาธิให้เหมือนว่าเป็นการแปรงฟัน เราไม่ซีเรียสว่าเราต้องแปรงฟันทุกวัน แต่เราก็ยังแปรงทุกวัน ถึงเวลานั่งก็นั่ง แต่ไม่ต้องเค้นว่าต้องกี่นาที สบายๆ ไปค่

พงศ์ปกรณ์ นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา: สงบ

Vasu Caricatura Sunsaksawat: หลากหลายวิธีมาแบ่งปัน เช่น การหมุดหมายเวลาอย่างชัดเจน เช่น เเต่ก่อนพี่จะ sit @9 คือ ฉันจะนั่งทุกวันตอนสามทุ่มหรือหนึ่งนาทีก่อนอาหารก่อนนอน ตั้งมั่นห้ามอ่อนข้อให้มารเป็นอันขาด // คนนัดธีม sit@9 คือหลวงพี่ พี่ว่าโทรไปให้คำมั่นสัญญากับหลวงพี่เลยยยมะ จะได้มีพลังงงง สตรวอง!!

Wang Zong Hao: การสร้างวินัย ทำได้ทางเดียวครับ คือคุณต้องชอบในสิ่งที่ทำ ต้องมีความสุขกับมัน // มันยากตรงที่ว่าการนั่งสมาธิ เรามักจะตั้งความหวังในการบรรลุอะไรสักอย่าง ซึ่งความหวังหรือความต้องการคือกิเลส ทำให้เกิดทุกข์ อาจารย์ที่สอนผม สอนผมว่า "ให้เรานั่งสมาธิโดยไม่ต้องนั่งสมาธิ" การที่คิดว่าเราต้องมีวินัย มันก็เป็นการสร้างเป้าหมายไปเรียบร้อยแล้วครับ // ผมบอกได้แค่ว่า นั่งไปเรื่อยๆ จนคุณเห็นสิ่งที่เรียกว่า "ความว่าง" หลังจากนั้นการนั่งสมาธิจะมีความสุขมากเลย พอไม่ได้นั่งแล้วจะรู้สึกขาดอะไรไปเลยครับ // อย่าไปคิดอะไร แค่นั่งเพื่อนั่งแค่นั้นจริงๆ

Beerchang Nangloeng: ตามจริตเลยครับ สมาธิไม่จำเป็นต้องนั่งก็ได้ ^^

Namoo Suksan: ผมนี่ ดู The Voice ไป สร้างจังหวะ หลวงพ่อเทียนไปเลย 555

Daru Somเท็นชอบท้าทายตัวเองไหม ถ้าใช่ ลองแอพชื่อ Ensō เค้ามีสถิติให้เราดูด้วย ว่านั่งติดต่อกันได้กี่วันแล้ว รวมเป็นกี่นาที กี่ชั่วโมงแล้ว แบบเนี้ยะ

Ratta Ch: ถ้าอยากสบายๆก็เอาเวลาที่ว่าง เช่น อยู่บน BTS ระหว่างนั่งรอประชุมกับลูกค้า 5 นาทีก่อนนอน-หลังตื่น

ถ้าจริงจังขึ้นมาหน่อยก็ระบุเวลาที่ชัดเจน อาจจะตั้งนิดหน่อยว่านานเท่าไหร่ วันไหนเบื่อก็นั่งไปก็รู้ว่าเบื่อ..เกิดความไม่พอใจ วันไหนขยันก็นั่งไปแล้วก็รู้ว่าขยัน..เกิดความอยาก ความพอใจ --ค่อยๆ รู้ตัวไปเรื่อยๆ ว่ากิเลสมันเกิดขึ้นในทุกขณะ แล้วก็ค่อยๆ ดูการดับของกิเลสที่มันเกิดขึ้น

แล้วก็ค่อยๆ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวเองไปเรื่อยๆ จากการที่ได้ปฏิบัติ

ข้อแนะนำเพิ่มเติม..หามุมสำหรับเอาไว้นั่งอย่างเดียว ประมาณ 2*2 ฟุต ก็โอแล้วถ้าไม่มีพื้นที่ ที่ตรงนั้นจะเป็นกระแสสั่นสะเทือนจากการปฏิบัติของเรา แล้วลองดูว่ามันจะช่วยให้เรานั่งได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนอันนี้เอามาฝากนะ

(10
วันที่มีลมหายใจเป็นเพื่อน : ทศบารมี 10 ประการ
http://10daysdhamma.blogspot.com/2013/03/blog-post_3.html...)

พี่ใช้ตัวนี้เป็นการตั้งเป้าหมายในการนั่งปฏิบัติ คือ ต้องการสร้างบารมี โดยอธิษฐานว่าจะนั่งทุกวัน แล้วทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ ซึ่งบางครั้งก็ขี้เกียจก็ต้องนั่ง แล้วพอนั่งก็แผ่เมตตา ดังนั้น อย่างน้อยก็สร้างอธิษฐานบารมี สัจจะบารมี วิริยะบารมี และเมตตาบารมี จ้า

เป็นกำลังใจให้นะ ลองหาเป้าหมายของการนั่งให้เจอ แค่เริ่มก้าว เราก็เข้าใกล้เป้าหมายไป 1 ก้าว แล้ว ^^




2 ความคิดเห็น:

  1. ตอนเรียนปี 1 อาจารย์ เขียนบนกระดาน และถามหน้าห้อง ว่า " อะไรคือความแตกต่าง ระหว่าง Engineer และ Supervisor"
    หลังจากนิสิต แสดงความเห็นซักพัก อาจารย์ ก็สรุปรวบยอดว่า
    "Supervisor know how "
    "Engineer know why"
    "But a could Engineer know why and how"
    พวกเรา Engineer จึงถูกสอน ให้ know why เป็นสำคัญ
    ดังนั้นหากจะหาเหตุที่เป็นเครื่องกางกั้นของสมาธิแล้ว จำเป็นต้องรู้จักนิวรณ์ ก่อน
    และเมื่อรู้จักนิวรณ์แล้ว หากรู้ว่าเป็น นิวรณ์ ตัวใด ก็จะมีกรรมฐาน ที่เป็นคู่ปรับกันโดยเฉพาะอยู่ทำให้กำจัดนิวรณ์ ตัวนั้น ได้ง่ายขึ้น
    จริงๆความรู้ในหัวข้อธรรมเหล่านี้ พวกเราล้วนเคยผ่านตามาทั้งสิ้น แต่การเรียนเป็นเรื่องๆทำให้เราไม่สามารถมองเห็นภาพรวม เรารู้ว่าหลักธรรมนั้นมีอยู่ แต่ไม่สามารถหยิบมาใช้ ได้ถูกที่ถูกเวลา ต่อเมื่อวันนึงเราได้ตกผลึกทางความคิดแล้ว จะพบว่า หลักธรรมทุกข้อล้วน ร้อยเรียง และเกียวเนื่องกันดุจสายโซ่ ที่จะนำทางเรา ให้หลุดจากวัฏฏะนี้ สำคัญ คือ การเห็นโทษ ของวัฏฏนั่นแหละ จะเป็นแรงผลักให้เธอทำความรู้จักกับโซ่แต่ละข้อต่อไป

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณมากค่ะ เท็นเพิ่งกลับมาจากปฏิบัติธรรม แล้วอาจารย์สอนเรื่องนิวรณ์พอดีเลยค่ะ ^^

      ลบ