วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บันทึกการสังเกตตัวเอง: นพลักษณ์กับการปฏิบัติธรรม วันที่ 2 (6 ธ.ค. 2015)

วันนี้ฉันทำการบ้านกับตัวเองต่อจากเมื่อวานเรื่องการให้อภัยคนที่ฉันยังพยาบาทอยู่
ตลอดช่วงเช้าจนถึงเที่ยง ฉันพยายามมากๆ ที่จะบอกให้ตัวเองให้อภัยเขา แต่ทำไม่ได้เลย ส่งผลให้ทำสมาธิไม่ได้ด้วย

ช่วงเบรกตอนบ่ายหลังกินข้าวเที่ยง ฉันหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนความรู้สึกของฉันเพื่อสืบค้นลงไป และตั้งคำถามเพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น สุดท้ายฉันพบว่า ความเป็นลักษณ์ทำให้ฉันมองเห็นตัวเอง "ตัวเล็กกว่าความเป็นจริง" และเป็น "เหยื่อ" หรือ "ผู้ถูกกระทำ" เสมอ

ถ้าฉันตัวใหญ่กว่าเขา การกระทำของเขาจะไม่มีค่าอะไรเลยสำหรับฉัน
เหมือนแมลงวันที่มาตอม เราก็แค่ปัดไป

การที่ฉันมองว่าตัวเองดี+ใหญ่ (ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เว่อร์เกินจริง) มันทำให้ฉันรู้สึกว่า ฉันก็มีสิทธิ์ มีโอกาสที่จะได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิต (จากเดิมที่คิดว่า "ฉันคงไม่ได้หรอก," "เป็นไปไม่ได้หรอก")

แต่เชื่อไหมว่า ถึงจะคิดได้แบบนี้ แต่พอจะทำจริง ก็ทำไม่ได้อยู่ดี...
ความคิดแบบเดิมก็ยังคงเข้ามารบกวนอยู่เรื่อยๆ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนและ "รู้ทัน" มันต่อไป

ตอน 16.00 น. กลุ่มลักษณ์ 4 ได้เข้าไปพบอาจารย์เพื่อสอบอารมณ์ ประเด็นที่เกี่ยวกับตัวฉันมีอยู่ 2-3 ประเด็น

ประเด็นแรก เกี่ยวกับเรื่องความ "พยายาม" ของฉันเอง และลักษณ์ 4 คนอื่นๆ ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ซึ่งเกี่ยวโยงถึงอุดมคติและเป้า (ความคาดหวัง) กรณีของฉันคือ ฉันคิดว่าสมาธิที่ดีคือการไม่มีความคิด ไม่มีความรู้สึก (อีกนัยหนึ่งคือ รู้สึกสงบสันติ) จึงพยายามไปให้ถึงตรงนั้น จนกลายเป็นการ "บังคับ" หรือ "กดดัน" ไปในที่สุด

อาจารย์ให้สังเกตว่า "อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เราพยายาม" ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการสู้อะไรสักอย่าง

ฉันเลยถามตัวเองว่า "ถ้าทำแล้วจะได้อะไร" คำตอบคือ "ฉันจะได้มีความสุข" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าลึกๆ เราไม่พอใจตัวเองอยู่

และคนที่ฉันต่อสู้ ก็คือตัวฉันเอง!!

อาจารย์กล่าวเพิ่มด้วยว่า ตัวผู้ดู/ผู้รู้ คือสิ่งที่เราให้ค่าว่า "ดี" กับอะไรอีกสักอย่าง เราให้ค่ามันว่า "ไม่ดี" แล้ว 2 สิ่งนี้ก็สู้กัน

"ทั้งชั่วทั้งดีล้วนอัปรีย์" -- ท่านพุทธทาสกล่าวไว้

ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ ความเป็น 4 ทำให้มีความ "สุดขั้ว" ทั้งสองฝั่ง "เธอมีความหมายสำหรับฉันมากเหลือเกิน" หรือ "เธอไม่มีความหมายสำหรับฉัน!!" แคร์มาก หรือ ไม่แคร์เลย การสุดโต่งแบบรักแบบสุดขั้ว มันปรุงแต่งเกินความจริง บางคนเราก็เกลียดเกินความจริง การสุดขั้วสองฝั่ง ทำให้เราไม่เห็นทางเลือกอื่นของความสัมพันธ์

มันก็จริงนะ...
ตอนนี้ฉันกำลังรักใครเกินจริง เกลียดใครเกินจริงหรือเปล่า
ปกติเรามักจะโทษคนอื่น แต่จริงๆ มันแปลว่าเรากำลังแสวงหาบางอย่างจากเขาอยู่

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่อง "การยอมรับ" เมื่อเจอสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง แล้วเกิดการตีความตามลักษณ์ ให้ "ยอมรับ"การตีความนั้นไปก่อน แล้วพอย้อนกลับมาดูอีกครั้ง จึงค่อยเห็นว่ามันไม่ใช่อย่างที่เราตีความ ต้วอย่างเช่น อาจารย์ซึ่งเป็นลักษณ์ 1 ตีความครั้งแรกว่าสิ่งนี้ผิด ก็ยอมรับว่าเราตีความว่าสิ่งนี้ผิด แต่เมื่อย้อนกลับมาดูอีกครั้งจึงเห็นว่า อ้อ จริงๆ มันไม่ได้ผิด 

เหตุที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะปกติถ้าฉันเจอสถานการณ์ใดและเกิดการตีความตามลักษณ์ขึ้น ฉันจะบอกตัวเองว่า เธอตีความแบบนี้ไม่ได้นะ มันไม่ถูกต้องและเกิดการต่อต้านกันขึ้น

การยอมรับในระดับหนึ่ง ก็ช่วยให้เข้าถึงความจริงมากขึ้น
นี่เป็นสิ่งที่ฉันต้องทำการบ้านในวันต่อๆ ไป
อย่างน้อยการที่ฉันยอมรับว่าฉันยังเกลียดเขาอยู่ ก็ช่วยทำให้ฉันเบาขึ้นมากทีเดียว ^_^

------------------------------------------

หัวข้อการปฏิบัติธรรมปีนี้เป็นเรื่องของ "นิวรณ์"

นิวรณ์ คือ สิ่งกีดกั้น ส่วนใหญ่หมายถึงกีดกั้นสมาธิ จิตจะไม่สงบ บางแห่งเรียกว่า อาหารแห่งอวิชชา จิตจะไม่เห็นอะไรตามความเป็นจริง เลยอยู่กับอวิชชา คือ ความไม่รู้ รู้ผิด ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต ถ้าถูกนิวรณ์แทรกแซงจะใส่ใจเรื่องนั้นได้ไม่เต็มที่ มีอยู่ 5 ตัว ซึ่งจะกล่าวถึงด้านล่าง

ในพระสูตร ได้มีการนำเรื่องของ "นิวรณ์" มาทำเป็นอุปมา โดยอุปมาจิตที่เป็นสมาธิ เหมือนน้ำในภาชนะที่นิ่ง ใช้ส่องแทนกระจก ส่องดูใจเรา เห็นชัดเจน ตามจริง

ถ้าน้ำถูกแทรกแซงแปรปรวนโดย "นิวรณ์"...

กามฉันทะ (พอใจกับการแสวงหาความสนุกเพลิดเพลินทางตา หู จมูก ลิ้น กาย)
--> เป็นเหมือนสี เมื่อใส่ลงในน้ำ จะมองเห็นตัวเองไม่ชัด ไม่ตรงกับที่เป็นจริง สียังสมารถเปลี่ยนไปมาได้อีกด้วย

พยาบาท (หงุดหงิด ไม่พอใจ แต่ไม่ถึงโมโห รำคาญ)
--> เหมือนกองไฟใต้ภาชนะใส่น้ำ ทำให้น้ำเริ่มขึ้นเป็นฟอง (แต่ไม่ถึงกับเดือด) มีไอน้ำ

ถีนมิทธะ (เฉยชา เบื่อ ง่วงเพราะขี้เกียจ)
--> บนน้ำและในน้ำมีพืชเล็กๆ ขึ้นตามธรรมชาติ ตะไคร่น้ำคลุมน้ำ เพราะทิ้งไว้นาน ทำให้มองตัวเองไม่ได้

อุทธัจจะกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่าน กังวล ฝัน)
--> เหมือนลมพัด ทำให้ผิวน้ำไม่นิ่ง

วิจิกิจฉา (ลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ไม่กล้าตัดสิน สรุป หรือลงมือ หากเป็น doubt ที่เกิดจากข้อมูลไม่พอ ไม่ใช่นิวรณ์ เพราะไม่รบกวนจิต)
--> มีดินไปผสมกับน้ำ ทำให้มันไม่ใสสะอาด มองตัวเองตามความเป็นจริงไม่ได้

ในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมจะมีนิวรณ์เพียง 5 ตัวนี้เท่านั้น แต่อาจารย์ได้ตั้งสมมติฐานว่า อาจจะมีนิวรณ์มากกว่า 5 ตัว และได้เสนอตัวที่ 6 ขึ้นจากการที่อาจารย์ได้คุยกับผู้ปฏิบัติหลายๆ คน นั่นคือ "ละอาย" (shame) หมายถึง รู้สึกว่าตัวเองผิด มีความเป็นตัวเองที่ไม่ดี (ไม่ใช่เพราะทำผิดแบบ guilty) ให้คุณค่ากับตัวเองในเชิงลบ

อาจารย์ได้อุปมาว่า ความละอาย เหมือนกระจกเงาในสวนสนุก ที่ส่องแล้วจะเห็นตัวเองมีรูปร่างแปลกๆ บิดเบี้ยว ค่อนไปทางน่าเกลียด


พระอาทิตย์ตกดิน วันที่ 6 ธ.ค 2015

FB Fanpage: https://www.facebook.com/tenravipanblog/
Blogger: http://tenravipan.blogspot.com/
Twitter: https://twitter.com/tenravipan
Google+: https://plus.google.com/109907586945597973785

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น